Sunday, 28 April 2024
Cool Life

ทำความรู้จักกับ 'เทียน' ในหลากหลายความหมาย

5 ธันวาคม วันนี้คงเป็นอีกวันที่ ‘แสงเทียน’ จะสว่างไสว แต่รู้หรือไม่ ว่าแสงเรืองรองจากปลายเทียนที่เราจุดกันนี้ มีที่มาและความหมายอย่างไร ตามไปทำความรู้จักกันดีกว่า...

 

ที่มาของ ‘เทียน’

เทียน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมากว่า 2,000 ปีก่อน ทำจากไขมันสัตว์ ไขมันพืช และขี้ผึ้ง โดยใช้แก่นของพืชมาเป็นไส้เทียนเพื่อให้ความส่องสว่าง ในยุโรป นิยมทำเทียนจากขี้ผึ้ง เพราะควันน้อย กลิ่นไม่เหม็น และมีความสะอาด แต่ราคาค่อนข้างแพง จึงนิยมใช้เทียนขี้ผึ้งนี้ในหมู่คนมีฐานะเสียมากกว่า ส่วนประเทศไทยเรานั้น ประเมินได้ว่า มีการใช้เทียนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากมีประเพณีการถวายเทียนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่มาตั้งแต่สมัยนั้น

 

ความหมายและสัญลักษณ์การจุดเทียน

ในทางพุทธศาสนา เรามักจุดเทียนไขคู่กัน 2 เล่มเสมอ โดยนัยยะเพื่อเป็นการบูชา ‘พระธรรม’ และ ‘พระวินัย’ ที่เป็นเสมือนดวงประทีปส่องสว่าง ทำให้คนมองเห็น ทำให้เกิดปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ แล้วรู้จักดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

 

ในวัฒนธรรมของประเทศอื่น นอกจากจะให้แสงสว่าง เทียนยังเปรียบเสมือนการช่วยขับไล่ความมืด เป็นสัญลักษณ์ของการบูชา ความหวัง กำลังใจ ความรัก การระลึกถึง และการผ่อนคลาย

 

เทียนยังใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การจุดเทียนในโบสถ์คริสต์ รวมไปถึงการจุดเทียนในงานแต่งงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของบ่าวสาว ว่าแต่ละคนเกิดมามีชีวิตของตัวเอง (ถือเทียนคนละเล่ม) เมื่อมาแต่งงานกันก็มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ร่วมกันเป็นครอบครัว (นำเทียนของตัวเองไปจุดเทียนชีวิตคู่ ในพิธีจึงมีเทียนทั้งหมด 3 เล่ม) 

 

การจุดเทียนยังแสดงถึงความอาลัยเด็กๆ ที่เสียชีวิต โดยมีความเชื่อว่า แสงเทียนจะช่วยส่องทางให้แก่ดวงวิญญาณดวงน้อยที่จากไป ที่ผ่านมา มีองค์กรชื่อ The Compassionate Friends ในสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ทุกๆ วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมของทุกปี เป็น ‘วันจุดเทียนโลก’ (Worldwide Candle Lighting Day) เริ่มมาตั้งแต่ปี 1997 โดยผู้คนจะพร้อมใจกันออกมาจุดเทียนในเวลา 1 ทุ่มตรงตามเวลาท้องถิ่น เพื่อไว้อาลัยแก่เด็กๆ ที่เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย และเหตุการณ์ต่างๆ ทั่วโลก

 

แม้โลกจะก้าวไปสู่ความทันสมัย แต่ ‘เทียน’ ก็ยังคงถูกนำมาใช้ในหลากหลายบริบท โดยเฉพาะการระลึกถึงบุคคลที่จากไป เป็นสัญลักษณ์ของความพร้อมใจกันระลึกถึงสิ่งดีงาม ดังเช่นเปลวแสงแห่งการส่องสว่างที่ได้จากเทียนนั่นเอง

 

อ้างอิง: https://mgronline.com/dhamma/detail/9590000065682

 

 

7 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งปีนี้ทรงเจริญพระชันษา 42 ปี

 

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในหลากหลายด้าน ทางด้านกฎหมาย ทรงส่งเสริมหลักการยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะสตรีและผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมในระดับนานาชาติ โดยทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

 

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยวัตถุประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนคนไทย ทั้งในยามประสบภัยพิบัติ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

 

อ้างอิง: https://th.wikipedia.org/ , http://friendsofpa.or.th/TH/home

 

 

ถูก ‘บูลลี่’ ควรแก้ยังไง?

ใครเคยถูก ‘บูลลี่’ ยกมือขึ้น?

 

ถามแบบนี้ เชื่อเถอะว่า ยกมือกันพรึ่บ ไล่ไปตั้งแต่เด็กประถมไปยันนายกรัฐมนตรี ยุคสมัยนี้เขาเรียกการโดนล้อว่า ถูกบูลลี่ (Bully) แต่ถ้าเป็นยุคก่อนๆ มันก็คือ การถูกล้อ ถูกแซว นั่นแหละ

 

การถูกบูลลี่ หรือการล้อ การแซว เป็นเรื่องทางจิตวิทยาของมนุษย์มาแต่โบร่ำโบราณแล้วล่ะ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม พอมารวมกลุ่มกันเข้า เมื่อเห็นว่าสิ่งใดที่มันดู ‘แตกต่าง’ ไปจากผู้คนปกติในกลุ่ม ก็มักจะมีการออกความเห็น เป็นธรรมดา

 

เช่น ‘ทำไมคนนี้ถึงดำ’ ‘ทำไมคนนั้นถึงเตี้ย?’ แต่ปัญหาต่อมาก็คือ เมื่อมีคนพูด (หรือตั้งประเด็นขึ้นมา) คนอื่นๆ ในกลุ่มก็จะพลอยสนใจ จากที่มีคนสีผิวต่าง หรือส่วนสูงต่างอยู่ในกลุ่มตั้งนานสองนาน พอมีคนตั้งข้อสังเกตปุ๊บ กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาทันที

 

ที่มันเลยเถิดไปกว่านั้น เมื่อสนใจในความแตกต่าง กลับกลายเป็นการไปย้ำความต่างนั้นๆ อยู่เรื่อยๆ เหมือนอะไรเอ่ยไม่เข้าพวก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ถ้าไม่มีใครทัก ใครพูด มันก็จะไม่กลายเป็นประเด็น

 

ยังมีอีกหลายกรณี เช่น คนนี้อ้วนกว่าใครในกลุ่ม คนนี้ผอมแห้งกว่าใครในแก๊ง คนนี้สิวเยอะ คนนั้นพูดไม่ชัด คนโน้นผมหยิก กระทั่งพัฒนามาสู่ยุคนี้ ที่มีโซเชี่ยลมีเดียเป็นตัวกระจายอำนาจการบูลลี่ กล่าวคือ ใครที่มีความต่าง หรือมีพฤติกรรมไม่เข้าพวก หรือแม้แต่ทำอะไรน่าเกลียดๆ แล้วโดนถ่ายภาพเก็บไว้ ทั้งหมดนี้จะถูกกระจายกำลังกันโดนบูลลี่ไปในโลกกว้างทันที

 

 

เรื่องเหล่านี้ ใครไม่เจอกับตัวเอง ก็คงไม่รู้ซึ้งว่า ‘มันเจ็บปวดเพียงใด’

 

อย่างที่ถามไป มีใครเคยถูกบูลลี่บ้าง น้อยคนนั่นแหละที่จะไม่เคย เอาเรื่องเบสิกสุดๆ ประเภทล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ยิ่งชื่อพ่อแม่เป็นชื่อเชยๆ แปลกๆ งานนี้โดนล้อกันจนแก่จนเฒ่า นี่ก็เป็นมิติหนึ่งของการบูลลี่เหมือนกัน ถามต่อมาว่า แล้วจะทำยังไงไม่ให้ถูกบูลลี่? ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ‘ยาก!’ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีความแตกต่าง หรือแม้แต่ทำอะไร ‘พลาดๆ’ กันได้หมด

 

แต่ตัวการปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ ‘คนบูลลี่’ นั่นต่างหาก

 

ยกสมการง่ายๆ ว่า ‘ถ้าไม่มีคนบูลลี่ มันก็จะไม่มีการถูกบูลลี่’ ถูกไหม? เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ‘ทุกคน’ ควรทำ หรือต้องทำ คือ ฉุกคิดสักนิด ก่อนจะพูด ก่อนจะเล่า ก่อนจะแซว ก่อนจะล้อ ก่อนจะให้ความเห็น หรือก่อนจะคอมเม้น

 

ทั้งหมดมันเกิดจากตัวเรานี่ล่ะ บางครั้งไม่ตั้งใจ แต่เผลอตัวพูดออกไปด้วยความสนุก(ปาก) ด้วยความคึกคะนอง คิดว่าขำๆ ล้อกันเล่นๆ แต่ใจเขาใจเรา อะไรที่มากเกินพอดี ผลลัพธ์ที่ออกก็มักจะเกินงามไปด้วยเช่นกัน

 

 

เราไม่ได้บอกให้ใครต้องทำตัวโลกสวย ต้องพูดเพราะๆ แต่ก่อนพูด ขอให้มีสติ ฉุกคิดสักนิดกับคำพูดของเรา อะไรที่ประเมินว่าสุ่มเสี่ยง ก็ข้ามๆ ไปบ้าง ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิดก็ได้

 

สรุปคาถาง่ายๆ ป้องกันการถูกบูลลี่ นั่นคือ ‘การไม่ไปบูลลี่คนอื่นก่อน’ ก็เท่านั้นเอง...

เก็บตก 20 เรื่อง ซีรี่ส์แห่งปี START-UP

จบไปแบบยังไม่แห้งดี (จบแบบหมาดๆ) สำหรับซีรี่ส์เกาหลีส่งท้ายปี START-UP

 

เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่ซีรี่ส์ส่งท้ายปีเท่านั้นนะ ยังเป็นซีรี่ส์เกาหลีแห่งปี 2020 อีกด้วย เหตุที่ต้องยกตำแหน่งนี้ให้อย่างไม่เป็นทางการ เพราะทันทีที่ซีรี่ส์ดังกล่าวถูกปล่อยสตรีมมิ่งลง Netflix เรตติ้งก็ดีเว่อร์ กระแสความคลั่งไคล้ในเรื่องราวและเหล่าตัวละครก็พรึ่บพรั่บมาแรงแซงทุกเรื่องแบบไม่เห็นฝุ่น

 

แรกทีเดียว ฟังแค่ชื่อ START-UP คงพอเดาได้ว่า เป็นเรื่องราวแนวธุรกิจยุคใหม่ การแข่งขันทางเทคโนโลยี แต่ซีรี่ส์เรื่องนี้ทำได้ดีกว่านั้นมากกกกก! ทั้งผูกเรื่องราวได้น่าสนใจ ตัวละครแทบทุกตัวมีมิติ และสะท้อนโลกของคนรุ่นใหม่ (ในแบบเกาหลีใต้) ได้อย่างน่าสนใจ

 

เอาเป็นว่า ใครที่ยังไม่เคยดู สามารถตามดูย้อนหลังได้แบบรวดเดียวจบได้เลย นี่เป็นข้อดีของการดูซีรี่ส์ยุคสตรีมมิ่งออนไลน์ แต่สำหรับใครที่ยังไม่เชื่อกระแสการตลาดแบบปากต่อปาก ประมาณว่า บอกว่าดี ดี ดี กันปากต่อปาก จนสุดท้ายก็ต้องเข้าไปดู เอาอย่างนี้แล้วกัน เรามี 20 เรื่องราวของซีรี่ส์นี้ ให้คุณได้ลองอ่านดูก่อน

 

ไม่ต้องกลัวว่าเราจะบอกเรื่องย่อ หรือไคลแมกซ์ของเรื่องหรอกนะ แต่เป็นการจับเอา ‘คุณค่า’ ที่ได้จากซีรี่ส์เรื่องนี้ เรียกว่าเป็นคุณงามความดี ที่ไม่ได้ดีแค่นางเอกสวย พระเอกหล่ออย่างเดียว ลองตามไปอ่านดูกัน

 

1 ซี่รี่ส์ START-UP แม้ชื่อจะฟังดูร่วมสมัย เป็นเรื่องของคนยุคใหม่ แต่ภาพหลังของเรื่องราวทั้งหมด คือความรัก ความผูกพันของคนในครอบครัว จากต้นเรื่องที่ดูเหมือนครอบครัวตัวละครต่างแตกแยก แต่ท้ายที่สุด ความรักและความผูกพันก็ทำให้พวกเขากลับมาพร้อมหน้ากันในที่สุด

 

2 ซีรี่ส์พยายามจะบอกว่า ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็สามารถเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จได้ สะท้อนได้จากกลุ่มตัวละครในบริษัท ซัมซานเทค ที่ประกอบไปด้วย นัมโดซาน คิมซงซาน และอีชอลซาน แม้แรกเริ่มพวกเขาจะอยู่ในบริษัทอันซอมซ่อ แถมแต่ละคนยังพูดจาไม่รู้เรื่อง ดูเป็น underdog มากๆ แต่ด้วยความกล้า ลุย อดทน และมีความแตกต่าง สุดท้ายพวกเขาก็ประสบความสำเร็จจนได้

 

 

3 หลายๆ ฉากของซีรี่ส์เรื่องนี้ สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่า Startup ในโลกที่คนอยากทำ Startup ต้องเจอ นั่นคือ ต้องอึด ถึก ทน กินอยู่ หลับนอน และทำงาน อยู่ในออฟฟิศนั่นล่ะ

 

4 ซีรี่ส์นี้ยังบอกอีกด้วยว่า ถ้าคิดจะทำธุรกิจ Startup ก็อย่าได้กลัวความล้มเหลว ดังสัญลักษณ์ของอาณาจักร Sand Box ในเรื่อง (ทำหน้าที่คล้ายๆ Silicon Valley ในโลกสตาร์ตอัพจริง) ที่ใช้ภาพเด็กผู้หญิงกำลังแกว่งไกวชิงช้า โดยมีที่มาจากการที่ตัวละครหนึ่งเคยนำทรายไปถมเพื่อให้ลูกเล่นชิงช้า พร้อมกับสะท้อนการทำธุรกิจว่าเหมือนกับการเล่นชิงช้านั้น อย่ากลัวที่จะทำอะไรใหม่ๆ ถ้าพลาด หรือตกลงมา ก็ยังมีพื้นทรายที่รองรับ มันก็แค่เจ็บ แต่ไม่ถึงกับตาย จงกล้าที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา

 

 

5 ซีรี่ส์นี้เหมือนจะเป็นซีรี่ส์ของคนรุ่นใหม่ แต่ตัวละครสำคัญของเรื่องล้วนผูกไว้กับ ‘คนรุ่นก่อน’ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับ ‘คุณย่าชเววอนด็อก’ ซึ่งเป็นคุณย่าของนางเอก เธอเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของเด็กๆ ทุกคนในเรื่อง แถมยังมีประโยคคำสอนมากมาย สุดท้ายซีรี่ส์นี้กำลังจะบอกว่า โลกนี้ล้วนอยู่ได้ด้วยความเก่าและใหม่ ที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของกันและกัน เพียงแต่ต้องผสานให้เป็นหนึ่งเดียว

 

6 คุณงามความดีของซีรี่ส์นี้อีกประการ ตัวละครรุ่นใหม่พยายามสร้างธุรกิจใหม่ๆ ก็จริง แต่สุดท้ายพวกเขาไม่ได้สร้างเพื่อต้องการ ‘ความร่ำรวย’ หากแต่สร้างเพื่อ ‘ประโยชน์’ ให้กับผู้คน สะท้อนได้จากกลุ่มบริษัทซัมซานเทคที่พยายามทำแอปฯ ที่ชื่อ นันกิล เพื่อไว้ใช้นำทาง และบอกข้อมูลต่างๆ ให้กับคนพิการทางสายตา

 

 

7 ‘ความรวย’ ไม่ใช่คำตอบสำหรับซีรี่ส์เรื่องนี้ หลากหลายตัวละครที่อยู่บนฐานะที่ร่ำรวย อาทิ ชาอาฮยอน (แม่ของนางเอก) หรือ วอนอินแจ (พี่สาวนางเอก) แรกเริ่มเดิมที ทั้งสองคนต่างอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงแยกครอบครัวไปอยู่กับพ่อเลี้ยงคนใหม่ แต่สุดท้าย เงิน ก็ไม่ใช่คำตอบของชีวิต หากแต่คือความเป็นตัวของตัวเอง และการได้พิสูจน์ความสามารถที่แท้ของตัวเองต่างหาก

 

8 ซอดัลมี คือนางเอกของเรื่อง เหมือนเป็นตัวแทนของผู้หญิงในโลกนี้ที่ไม่ได้สวยที่สุด เก่งที่สุด แถมครอบครัวก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ปลุกเร้าให้เธอต้องก้าวขึ้นมาพิสูจน์ตัวเอง เพราะการจากไปของพ่อ และอยากให้ย่าเลิกขายฮอตด็อก และสุดท้าย อย่าเพิ่งตัดสินว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง จนกว่าเขาจะได้รับโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง

 

 

9 ในมุมกลับกัน นัมโดซาน พระเอกของเรื่อง มีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อและแม่ต่างเป็นห่วงในอนาคตของเขา แม้จะไม่ชอบใจในสิ่งที่ลูกชายทำก็ตามที (ก่อตั้งบริษัทซอมซ่อที่ชื่อ ซัมซานเทค) แต่พวกเขาก็เหมือนลมใต้ปีก ที่คอยอุ้มและส่งแรงให้ลูกชายได้บินขึ้นไปสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จ

 

 

10 มาสู่เรื่องเบาๆ กันบ้าง ซีรี่ส์เรื่องนี้ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นซีรี่ส์เกาหลีอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ ต้องมีฉากกินข้าวร่วมกันของครอบครัว (ที่แทบทุกเรื่องต้องมี) และต้องเห็นมื้ออาหาร เรื่องนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็น Soft Power ทางวัฒนธรรมเบาๆ ที่แฝงมาจนทำให้เรา (คนดู) อยากกินตามบ้าง

 

11 ไม่ใช่แค่มื้ออาหาร แต่ร้านอาหาร และร้านร่ำสุรา ก็ต้องมี แน่นอน เครื่องดื่ม ‘โซจู’ ต้องมาเช่นเคย นี่ก็ Soft Power อีกหนึ่งอย่างที่ประสบความสำเร็จเอามากๆ ทุกวันนี้ร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย มีโซจูขายเพียบเลย

 

12 นอกจากรถแบรนด์หรูจากประเทศเยอรมัน ที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับรถยนต์ทุกคันของตัวละครในเรื่อง ซีรี่ส์เรื่องนี้ยังแอบไทอิน หรือมีแอดเวอเทอเรียลแบบเนียนๆ อยู่เป็นระยะๆ (โดยเฉพาะฉากแต่งหน้าของนางเอก) หากไม่สังเกตแบบจ้องจับผิด ก็อาจจะดูไม่ออก ต้องยกความสามารถนี้ให้กับฝ่ายคิดและถ่ายทำ ซึ่งซีรี่ส์เกาหลีนั้น ‘ขายโฆษณาแฝง’ แทบทุกเรื่อง แต่ดูเพลินจนแยกไม่ออกจริงๆ

 

13 อีกหนึ่งคุณงามความดี คือเสื้อผ้าหน้าผมของทุกตัวละคร ดูลงตัว ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ฉูดฉาดเหมือนซีรี่ส์เกาหลีบางเรื่อง เสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่ล้วนใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน แถมบางชิ้นเห็นมากๆ เข้าก็อยากจะไปส่องตามร้านในเมืองไทยว่ามีขายหรือยัง ภาพรวมเป็นการสไตลิ่งที่สมจริงกับความเป็นคนรุ่นใหม่ในสายงานสตาร์ตอัพ ดูจับต้องได้ และน่าจับต้องอีกด้วย

 

 

14 เห็นว่าเป็นซีรี่ส์แนวธุรกิจโลกยุคใหม่ก็ตาม แต่ยังคงความเป็นสไตล์เกาหลี โดยเฉพาะเรื่องการสร้างปมตัวละครอันสุดเฉียบ ยกตัวอย่างเช่น นางเอกมีรักแรกจากเพื่อนทางจดหมาย (ที่เขียนขึ้นโดยพระรอง) แต่แท้จริงพระรองนั้นถูกย่าของนางเอกขอให้ช่วยเขียนให้ แต่ปรากฎว่า ชื่อที่พระรองใช้ กลับเป็นชื่อพระเอก (ตัวจริง) ที่ไปเห็นจากในหนังสือพิมพ์ เนื่องจากพระเอกชนะเลิศการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก เวลาผ่านไป 15 ปี คนทั้งหมดก็วนกลับมาเจอกัน ทำให้เกิดเรื่องราวความรักสามเส้าขึ้น

 

15 ซีรี่ส์ START-UP เรื่องนี้ ไม่มีตัวร้าย โดยเฉพาะที่ร้ายอย่างไม่มีเหตุผล แต่ไปวางตัวละครที่ต้องมาแข่งขันด้วย ที่เปรียบเหมือนตัวร้ายแบบเบาๆ ส่วนใหญ่จุดหักเหต่างๆ ของเรื่อง มักเกิดจากความผิดพลาดของเหล่าตัวละคร ซึ่งล้วนแต่เกิดมาจากความอ่อนด้อยในประสบการณ์ คนดูที่ติดตาม ก็ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์จากพวกเขาไปปรับใช้จริงได้ด้วยเช่นกัน

 

16 ปกติคนดูจะลุ้นว่า เมื่อไรพระเอก-นางเอกจะจูจุ๊บกันสักที แต่สำหรับซีรี่ส์เรื่องนี้ การจูบกันของพระนางแทบจะไม่ทำให้คนดูฟิน หรือดูดดื่มแต่อย่างใด แต่ในมุมกลับกัน ดูเป็นการจูบที่เป็นมุษย์มนา เรียกว่ามาตามอารมณ์ของเรื่อง ไม่ใช่เอะอะจูบ เอะจูบจูบ แม้จะไม่ใช่ฉากขายเหมือนหลายๆ เรื่อง แต่ก็เป็นซีนที่ดูจริง และสบายตาสบายใจ

 

 

17 อย่างที่บอกไป START-UP เป็นซีรี่ส์ที่ให้รายละเอียดของตัวละครแทบทุกตัว ยกตัวอย่าง พระเอก-นัมโดซาน เป็นคนชอบถักนิตติ้ง เมื่อใดที่เขาโกรธ หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาจะถักนิตติ้ง ส่วนนางเอก-ซอดัลมี เมื่อไรที่เธอเอาจริงกับเรื่องอะไรก็ตาม เธอมักจะรวบผมแล้วมัดขึ้นมาอยู่เสมอ แม้แต่ ฮันจีพยอง-พระรอง ตัวละครที่ภาพนอกคือผู้อำนวยการที่แสนจะเพอร์เฟคท์ แต่แท้จริงเขาคือคนเหงาคนหนึ่ง ที่มีเพื่อนคุยคือ คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ตั้งอยู่บ้านเท่านั้นเอง

 

 

18 ตัวละคร พระรอง-ฮันจีพยอง เหมือนเป็นภาพสะท้อนของคนยุคปัจจุบัน ที่แม้จะมีต้นทุนในชีวิตที่ต่ำมาก่อน แต่ด้วยความเก่ง และความขยัน ก็สามารถถีบตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็นผู้บริหารแถวหน้าได้ แต่ในภาพความสำเร็จ ความร่ำรวย สิ่งที่เขาต้องการ กลับเป็นแค่ความรัก ความเข้าใจ และชีวิตที่เรียบง่าย เหมือนอย่างที่เขามักจะไปหา ‘คุณย่าชเววอนด็อก’ คนที่เคยดูแลเขามาตั้งแต่เด็กๆ ที่ร้านขายฮอตด็อกนั่นเอง

 

 

19 แง่งามของ START-UP อีกอย่างคือ ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือคนแก่ ก็สามารถดูซีรี่ส์เรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องธุรกิจคนรุ่นใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ซีรี่ส์ได้ซ่อนการเชื่อมโยงของคนสองเจนเนอเรชั่นเข้าไว้ด้วยกัน คนรุ่นใหม่พร้อมทะยานเพื่อไปสู่อนาคตก็จริง แต่ในเนื้อแท้ พวกเขายังต้องอาศัยประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน เพื่อนำทางไปสู่เป้าหมาย หนำซ้ำ เป้าหมายจริงๆ ที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่แค่พิสูจน์ให้คนรุ่นก่อนเห็นว่าพวกเขาทำได้ แต่มันคือภาพของการทำให้คนที่รักมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่างหาก

 

 

20 ทำไมคนดูมากมายถึงต่างก็ ‘หลงรัก’ ซีรี่ส์และตัวละครของเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเหมือนตัวแทนของเราที่พยายามจะ ‘ทำตามฝัน’ (Follow your dream) มากไปกว่านั้น คือการไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เหมือนดังเช่นตอนท้ายๆ ของเรื่อง ที่พวกเขาได้กลับไปที่ออฟฟิศเก่าแห่งแรกของตัวเอง พร้อมกับยืนกอดคอกันร้องไห้ สะท้อนให้เห็นว่า ที่สุดแล้วชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยไหนก็ตามที การได้ไปยังสิ่งที่ใฝ่ฝัน แน่นอนว่า มันคือความสำเร็จ แต่ในแก่นแท้ของความสำเร็จแล้ว มันคือการได้เรียนรู้ และได้เห็นการเติบโตของตัวเองตลอดมา

 

8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ครบรอบวันเกิด ธงไชย แมคอินไตย์ 62 ปี

หนึ่งในศิลปินเมืองไทยที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน และยังคงครองตำแหน่ง ‘ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่ง’ ของเมืองไทยมาได้หลายพ.ศ. ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีๆ ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ยังเป็น ‘พี่เบิร์ด’ของทุกคนอยู่เสมอ

 

ธงไชย แมคอินไตย์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 หรือวันนี้เมื่อ 62 ปีที่แล้ว กรุณาอย่าเอามือทาบอก-แสดงอาการตกใจ แม้วัยจะเขยิบมาถึง 62 ปี แต่พี่เบิร์ดของทุกๆ คน ก็ยังเต็มไปด้วยพลัง ยังร้อง เล่น เต้น โชว์ สร้างสีสันให้คนไทยได้แบบสบายสบาย

 

จากพนักงานธนาคารย่านท่าพระเมื่อกว่า 40 ปีก่อน วันหนึ่ง ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง ด้วยการเป็นนักแสดงสมทบ ก่อนจะเดินหน้าไปประกวดร้องเพลงในเวทีสยามกลการ แล้วคว้ารางวัลนักร้องยอดเยี่ยมมาครอง กระทั่งในปี พ.ศ. 2529 เขาก็ได้ออกอัลบั้มเพลงเป็นของตัวเองครั้งแรกในชื่อชุด ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ และประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ธงไชยมีอัลบั้มเพลงออกมาชนิดนับไม่ถ้วน พร้อมกับมีโชว์คอนเสิร์ตอีกมากมาย มากที่สุดที่ศิลปินไทยสักคนหนึ่งจะเคยมี ไม่นับรางวัลต่างๆ ที่ได้รับมาแบบนับไม่ถ้วนเช่นกัน ความยิ่งใหญ่เหล่านี้ส่งให้ชื่อของผู้ชายคนนี้ กลายเป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชื่อ ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ยังคงอยู่ในความนึกคิดของแฟนๆ ชาวไทยเสมอ

 

วันนี้วันเกิด ‘พี่เบิร์ด’ ทางเราก็ขออวยพรให้ผู้ชายมากความสามารถคนนี้ มีความสุขแบบล้นๆ ตลอดไป HBD ซุป'ตาร์ของพวกเรา

 

 

ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินไป ส่งผลร้ายอย่างไร?

"อีกขวดน่า!" มีใครเคยพูดกับตัวเองทำนองนี้ ขณะยืนอยู่หน้าตู้แช่เครื่องดื่มบำรุงกำลังบ้างไหม?

แถมสุดท้ายก็ตัดสินใจเปิดตู้คว้ามา 1 ขวดจนได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง วันนี้ทั้งวัน ซัดเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปแล้ว 3 ขวด!!!

จากที่เคยได้ยินโฆษณาทางทีวีที่บอกว่า "ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด" แต่ในชีวิตจริง คือดื่มไปเรื่อย โดยเฉพาะเมื่อไรที่รู้สึกเพลีย ง่วง ซึมเซา ไม่กระปรี้กระเปร่า ก็ต้องมายืนอยู่หน้าตู้แช่แบบนี้ทุกทีไป

หน้าที่หลักของ "เครื่องดื่มบำรุงกำลัง" นั้น ทำให้สมองตื่นตัว เพิ่มพลังงาน เนื่องจากมีน้ำตาล และผสมสารคาเฟอีน ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของสมอง แต่อะไรที่กิน หรือเสพมากจนเกินไป ก็มักจะตามมาด้วยผลข้างเคียง เหมือนดังเช่น ‘คาเฟอีน’ ที่เมื่อได้รับมากจนเกินไป ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ดูจะไม่เป็นมิตรต่อร่างกายสักเท่าไรเลย

ร่างกายเราสามารถรับคาเฟอีนได้แค่ไหน

โดยเฉลี่ยในผู้ใหญ่ ไม่ควรรับประทานคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเครื่องบำรุงกำลังมักจะผสมคาเฟอีนต่อขวดอยู่ที่ 80 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากาแฟ 1 แก้ว) แต่จากผลการศึกษาของหน่วยงานกุมารเวชแห่งสหรัฐฯ American Academy of Pediatrics (APP) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขปริมาณคาเฟอีนที่เห็นบนฉลากข้างขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลังนั้น มันเป็นเรื่องยากมากที่จะพิสูจน์ได้ว่า มีปริมาณคาเฟอีนจริง ๆ อยู่เท่าไรกันแน่

 

 

หากได้รับคาเฟอีนมากไป...จะมีผลเสียอย่างไร

การดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินกว่าปริมาณที่แนะนำ หรือมากกว่า 2 ขวดขึ้นไป อาจทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกิน จนมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดภาวะคาเฟอีนเป็นพิษ อาการในระดับเบาที่มักจะเกิดขึ้น คือ รู้สึกวิงเวียน คลื่นไส้ กระหายน้ำ ปวดหัว นอนไม่กลับ หงุดหงิดง่าย อาการเหล่านี้สามารถเป็นแล้วหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากได้รับคาเฟอีนมากเกินขนาดหนัก อาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ เช่น หายใจลำบาก อาเจียน เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก รวมทั้งมีอาการชัก

 

 

คาเฟอีนกับผลร้ายในวัยรุ่น

หน่วยงานกุมารเวชแห่งสหรัฐฯ หรือ APP ยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงที่ได้รับจากการดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่น อาจทำให้เกิดการเสพติดคาเฟอีนขึ้นได้ มากไปกว่านั้น การได้รับคาเฟอีนอยู่ตลอดเวลา มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว และเต้นผิดจังหวะ มีผลต่อความดันโลหิตที่สูงขึ้น รวมทั้งความเข้มของเลือดที่มากขึ้น ไม่นับรวมภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เนื่องจากในเครื่องดื่มบำรุงกำลังมีน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณมากเช่นกัน

 

ทั้งนี้ปริมาณของคาเฟอีนที่เหมาะสำหรับวัยรุ่น คือไม่ควรเกินวันละ 100 มิลลิกรัม แต่หากเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงดีกว่า เพราะไม่ส่งผลดีใดๆ ในระยะยาว เอาเป็นว่า ถ้าง่วง เพลีย ซึมเซา หรือต้องใช้พลังงานอ่านหนังสือ หรือต้องทำงาน ลองปรับพฤติกรรมตัวเองดูดีกว่า หากอ่านหนังสือดึกๆ ไม่ไหว ก็สู้เข้านอนเร็ว แล้วรีบตื่นมาอ่านช่วงเช้า ๆ เผลอๆ หัวสมองจะแจ่มใส่กว่าเป็นไหน ๆ ส่วนคนที่ต้องทำงาน มีอาการง่วงเหงาหาวนอน ลองหาชาอุ่น ๆ จิบเบา ๆ ให้ร่างกายตื่นตัว เอาจริง ๆ ดื่มน้ำเปล่าก็ช่วยได้นะ ทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

เก็บเครื่องดื่มบำรุงกำลังเอาไว้เป็น "ตัวช่วยสุดท้าย" ถนอมร่างกายตัวเองกันใว้ยาวๆ ดีกว่านะ


อ้างอิง:

https://www.thelist.com/164290/what-happens-when-you-drink-too-many-energy-drinks/

https://hellokhunmor.com

https://www.pobpad.com  

 

 

9 ธันวาคม วันต่อต้านการทุจริตสากล

น้ำร้อนน้ำชา หลบไป! เงินใส่ซอง หลบไป! เงินใต้โต๊ะ หลบไป! เงินกินเปล่า แป๊ะเจี๊ยะ กระเช้าของขวัญ ข้าวของอภินันท์ เอ้ย! ก็บอกให้หลบไป! ไม่รู้หรือไง วันนี้เป็น วันต่อต้านทุจริตสากล

วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านทุจริตสากล หรือ International Anti-Corruption Day วันนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 อย่างเป็นเอกฉันท์

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล

โดยเจตนารมย์ที่ทำให้เกิดวันนี้ขึ้นมา ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้คนในเรื่องการทุจริต ซึ่งส่งผลกระทบไปในทุกๆ มิติของประเทศ รวมทั้งยังเป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจ กิจกรรมในวันนี้ ผู้นำทางการเมือง รัฐบาล หรือองค์กรสำคัญๆ ของประเทศทั่วโลก จะร่วมใจกันตีแผ่ถึงปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ

เอาเป็นว่า วันนี้จะไม่มีใครติดสินบนใคร จะไม่มีประโยคทำนอง ‘พี่ช่วยหน่อย’ แต่หากอยากให้สังคมเจริญก้าวหน้าไปมากกว่านี้ เราต้องมีวันที่ 9 ธันวาคมอยู่ในใจ ในทุกๆ วัน แล้วอะไรๆ ก็จะดีขึ้น

แล้วคำว่าน้ำร้อนน้ำชา สินบน เงินใต้โต๊ะ ฯลฯ จะกลายเป็นแค่คำโบราณที่อยู่แค่ในพจนานุกรมเท่านั้น สักวัน! สาธุ!

 

 

10 ธันวาคม...วันรัฐธรรมนูญ

วันนี้เมื่อ 88 ปีก่อน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศ ให้แก่ประชาชนชาวไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

 

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนดให้ วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประจำพุทธศักราช 2560 (6 เมษายน 2560 – ปัจจุบัน)

วิชาเกษตร 101

วิชาเกษตร 101

 

ไม่ใช่วิชาการเมืองนะคะนักเรียน โปรดอย่าเข้าใจอะไรผิดๆ คาบนี้เป็นวิชาการเกษตร 101 เหตุที่ต้องเปิดคอร์สสอนวิชานี้ เพราะช่วงนี้เห็นอุปกรณ์ทางการเกษตรไปอยู่ผิดที่ผิดทาง แห่ะๆ คุณครูก็เลยต้องนำเจ้าอุปกรณ์เหล่านั้นมาแนะนำแก่นักเรียน ตกลงมันใช้อะไรยังไง เน๊อะ!

 

อ๊ะ! ไหนๆ ก็เป็นช่วงปลายปี อากาศมันก็จะดีๆ หน่อย ลองเรียนรู้อุปกรณ์ทางเกษตรเหล่านี้จากคุณครู จากนั้นถ้าคิดจะปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ดายหญ้า ลงปุ๋ย พรวนดิน ก็ทำได้ตามสบายเลยนะนักเรียน แต่จุดนี้ขอติงนิดนึง เมื่อรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ก็จงใช้สิ่งของนั้นๆ ให้ถูกหน้าที่ของมันนะจ้ะ

 

เริ่มเรียนตามแผนภูมิภาพนี้นะจ้ะ...

เรื่องราวของ ‘ร็อกสตาร์ฆ่าไม่ตาย’ Oasis

“Oasis คือวงดนตรีที่โลกอนุญาตให้ปากหมาได้ตลอดกาล” ประโยคนี้คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงนักเมื่อเทียบกับวีรกรรมสุดห้าวของสองพี่น้องกัลลาเกอร์ที่ปรากฏบนหน้าสื่อตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในยุค ‘90s แล้ว ส่วนผสมที่ลงตัวแต่เข้ากันไม่ค่อยได้ของ ‘โนล กัลลาเกอร์’ มือกีตาร์ และ ‘เลียม กัลลาเกอร์’ ฟรอนต์แมน ดูเหมือนจะยิ่งสร้างสีสันให้แฟนๆ หันมาสนใจพวกเขามากยิ่งขึ้น ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า Oasis คือวงดนตรีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์บริตป๊อบ (Britpop) ของเกาะอังกฤษ

 

วง Oasis ได้ยุติบทบาทลงในปี 2009 หลังโนลตัดสินใจลาออกจากวงและไม่พูดจากับน้องชายนานร่วม 10 ปี ปัจจุบันนี้พี่น้องกัลลาเกอร์ต่างก็ผันตัวเป็นศิลปินเดี่ยว แต่แฟนเพลงกลับทำเหมือน Oasis แค่พักวงชั่วคราวเท่านั้น พวกเขาเฝ้ารอวันที่วงดนตรีที่พวกเขารักจะกลับมารียูเนียนกันอีกครั้ง ความน่าสนใจคือแม้ Oasis จะเป็นวงดนตรียุค ‘90s ทว่ากระแสความนิยมไม่ได้ลดลง ยังคงมีแฟนเพลงเดนตายติดตามอย่างเหนียวแน่นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์ เพลง “Wonderwall” ของวง Oasis ก็ยังเป็นเพลงแรกจากยุค ‘90s ที่มียอดสตรีมมิ่งผ่าน Spotify ทะลุ 1,000 ล้านครั้ง!

 

 

เรื่องราวของวง Oasis เต็มไปด้วยสีสันและเรื่องราวเฮฮาที่น่าสนใจ บางเรื่องอาจเกรียนชนิดที่ศิลปินยุคนี้ไม่มีทางทำแน่ๆ เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตพวกเขาสามารถสืบค้นข้อมูลและรับรู้ข้อมูลอีกด้าน ซึ่งแตกต่างจากที่หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ในยุค ‘90s เคยประโคมข่าว ทำให้มุมมองที่มีต่อวง Oasis ในยุคนี้เต็มไปด้วยเรื่องสนุกที่เล่ากันไม่รู้เบื่อ ซึ่งมีหลายปัจจัยด้วยกันที่จุดกระแสความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ตามไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้…

 

จากครอบครัวชนชั้นแรงงานสู่ ‘ร็อกสตาร์’

เด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ รวมตัวกันตั้งวงดนตรีชื่อ The Rain ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Oasis’ ในเวลาต่อมา เมื่อ ‘เลียม กัลลาเกอร์’ เข้ามาทำหน้าที่ฟรอนต์แมนของวง เขาชักชวนพี่ชาย ‘โนล กัลลาเกอร์’ ที่ทำงานเป็นเด็กขนเครื่องดนตรีประจำวงดนตรีท้องถิ่น Inspirals Carpets ให้มาร่วมวงในฐานะนักแต่งเพลงและมือกีตาร์ของ Oasis ไม่มีใครคาดคิดว่าบทเพลงที่โนลเคยแต่งไว้เล่นๆ จะได้นำมาใช้จริงๆ โดยเพลงส่วนใหญ่นอกจากจะพูดถึงวัฒนธรรมวัยรุ่นอังกฤษแล้ว ยังมีเนื้อหาที่สะท้อนการมองโลกในแง่ดีและความต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น “Whatever” เป็นเพลงที่โนลแต่งขึ้นสมัยทำงานเป็นกรรมกรในไซต์ก่อสร้างตามที่พ่อแนะนำ แต่เขาอยากจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง จึงแต่งเพลงนี้เพื่อระบายความรู้สึกที่ต้องการเป็นอิสระ หรือเพลง “Live Forever” มีเนื้อหาที่พูดถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เป็นต้น ในที่สุดพวกเขาก็แจ้งเกิดในฐานะศิลปิน โดยปล่อยอัลบั้มชุดแรก ‘Definitely Maybe’ ในปี 1994 ยกระดับสถานะทางสังคมจากชนชั้นแรงงานสู่ครอบครัวที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มมีชื่อเสียงและเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

             

1995-1997 ‘ยุคทอง’ ของ Oasis

อัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้พวกเขามากที่สุดคือ ‘(What’s The Story) Morning Glory?’ อัลบั้มชุดที่ 2 ที่วางจำหน่ายในปี 1995 เต็มไปด้วยเพลงฮิตมากมาย เช่น “Wonderwall” และ “Don’t Look Back In Anger” ทำให้กระแสความนิยมของ Oasis เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาทะยานสู่การเป็นวงบริตป๊อบอันดับต้นๆ แย่งความนิยมกับวง Blur อย่างดุเดือดจนนำไปสู่เหตุการณ์ ‘สงครามบริตป๊อบ’ ที่ทั้ง 2 วงเลือกปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ในวันเดียวกัน ชื่อเสียงของ Oasis ทำให้พวกเขาสามารถจัดคอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์ที่ Knebworth ในปี 1996 ซึ่งมีแฟนเพลงกว่า 2.5 แสนคนเดินทางมาชม อีกทั้งยังได้รับรางวัลการันตีความนิยมจากหลายสถาบัน ส่งผลให้การปล่อยอัลบั้มชุดที่ 3 ‘Be Here Now’ ในปี 1997 เกิดปรากฏการณ์แฟนเพลงแห่มายืนรอหน้าร้านขายซีดีทั่วอังกฤษเพื่อรอซื้ออัลบั้ม โดยในวันแรกที่ปล่อยอัลบั้มสามารถขายอัลบั้มได้กว่า 4.2 แสนก๊อปปี้ พิสูจน์ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว Oasis คือวงดนตรีที่ขึ้นไปยืน ณ จุดสูงสุดของวงการบริตป๊อบอย่างแท้จริง

 

 

 

จุดแตกหักของพี่น้องกัลลาเกอร์

แม้จะเป็นพี่น้องแท้ๆ แต่ลักษณะนิสัยของโนลและเลียมกลับต่างกันสุดขั้ว โนลเคยเปรียบเทียบว่าเขาคือแมว จริงจังและมีโลกส่วนตัวสูง ส่วนเลียมเป็นหมาที่พร้อมจะเล่นทุกครั้งที่มีคนโยนลูกบอลให้ เมื่อทั้งคู่ต้องมาทำงานใกล้ชิดกันเป็นเวลานานก็ย่อมมีปัญหากระทบกระทั่ง โนลที่มีความรับผิดชอบสูงจึงเอือมระอาพฤติกรรมของน้องชายที่บางครั้งหายไปโดยไม่บอกกล่าว ปล่อยให้เขาต้องทำหน้าที่ฟรอนต์แมนเอง ในขณะที่เลียมเองก็บอกว่าพี่ชายซีเรียสจนเกินไป การตัดสินใจทั้งหมดของวงแทบจะรวมอำนาจไว้ที่โนลแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการเขียนเพลงในแต่ละอัลบั้ม ความสัมพันธ์พี่น้องเริ่มห่างออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2009 ระหว่างที่ Oasis เตรียมขึ้นเล่นคอนเสิร์ตที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เลียมอาละวาดหลังเวที และพังกีตาร์ตัวโปรดของพี่ชาย ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่โนลตัดสินใจหันหลังให้วงดนตรีที่เขาอยู่มานานถึง 18 ปี และเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็นำไปสู่การยุติบทบาททางดนตรีของวง Oasis

 

 

 

ตัวตนใหม่เมื่อศิลปินมี ‘สื่อเป็นของตัวเอง’

ภายหลังโนลได้ผันตัวเป็นศิลปินเดี่ยว ภายใต้ชื่อ Noel Gallagher’s High Flying Birds ในปี 2011 ส่วนเลียมก็เป็นศิลปินเดี่ยวในปี 2017 เช่นกัน ทั้งคู่ต่างมีเส้นทางดนตรีเป็นของตัวเอง ได้ทดลองทำเพลงใหม่และเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก แน่นอนว่าในเซ็ทลิสต์ก็ยังมีบทเพลงของวง Oasis ให้แฟน ๆ ได้ฟังกันเช่นเดิม แต่สิ่งที่ทำให้ยุคนี้แตกต่างจากยุค ‘90s คือโซเชียลมีเดีย ศิลปินมีช่องทางสื่อเป็นของตัวเองในการประชาสัมพันธ์ผลงาน สื่อสารกับแฟนเพลง และแถลงตอบโต้ต่อประเด็นข่าวต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถสร้างการรับรู้ใหม่ให้แฟนๆ อย่างตรงไปตรงมาด้วยตัวตนและคาแรกเตอร์ของศิลปินที่สื่ออาจไม่เคยนำเสนอมาก่อน เช่น เลียมรับอุปการะแมวไร้บ้าน โนลบริจาคค่าลิขสิทธิ์เพลงให้เหยื่อก่อการร้าย เป็นต้น ทำให้ศิลปินได้สื่อสารกับแฟน ๆ โดยตรง ขณะที่แฟนเพลงเองก็ได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ของศิลปินที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น อย่างตอนที่เลียมไปทัวร์คอนเสิร์ตที่เกาหลีใต้ เขาทำท่าเลียนแบบ MV เพลง ‘กังนัมสไตล์’ ทำให้ได้เห็นมุมน่ารักสวนทางกับท่าทีขึงขังที่สื่อหลักเคยเสนอมาตลอดหลายปี หรือแม้แต่การสนับสนุน #BlackLiveMatter ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของศิลปินที่สนใจความเป็นไปของสังคม แน่นอนว่าการแสดงออกที่มี Value เหล่านี้ย่อมโดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

 

 

‘Oasis: Supersonic’ กระแสเรียกฐานแฟนเพลงคืนสู่อ้อมอก

ต้องยอมรับว่าหมุดหมายสำคัญที่ทำให้กระแส Oasis กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในหมู่แฟนเพลงก็คือ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Oasis: Supersonic กำกับโดย Mat Whitecross ออกฉายเมื่อปี 2016 นับเป็นการเรียกแฟนเพลงกลับสู่อ้อมอกวงดนตรีวงนี้อีกครั้ง อีกทั้งสร้างฐานแฟนเพลงใหม่ ๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นสารคดีที่ดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ สนุกสนาน มีบทสัมภาษณ์และข้อมูลเอ็กซ์คลูซีฟทั้งจากฝ่ายโนล เลียม อดีตสมาชิกวง และผู้ที่เคยร่วมงานกับวง Oasis เล่าตั้งแต่เรื่องครอบครัวในวัยเด็ก ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของพ่อบังเกิดเกล้า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งวง การเดินสายทัวร์คอนเสิร์ต ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง รวมถึงการเปิดเผยหญิงสาวปริศนาที่เป็นแรงบันดาลใจให้เพลง “Talk Tonight” ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนนานถึง 20 ปี สารคดีนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ให้แฟนเพลงได้รับรู้ สร้างการรับรู้ในแง่มุมที่น่าสนใจ ได้เห็นความตั้งใจในการทำงาน การรับมือกับดราม่าต่าง ๆ พิสูจน์ว่าพวกเขาคือร็อกสตาร์ที่ฆ่าไม่ตาย ที่สำคัญ Oasis: Supersonic ยังเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในประเทศไทย ถูกพูดถึงอย่างมากในสื่อโซเชียลมีเดีย ดึงความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวงดนตรีจากยุค ‘90s วงนี้!

 

 

คอนเสิร์ตเดี่ยวของ ‘โนล-เลียม’ ในประเทศไทย

หลังจากกระแส Oasis เริ่มจุดติดอีกครั้งในปี 2016 จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Oasis: Supersonic ตามมาด้วย เลียม กัลลาเกอร์ ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกในปี 2017 ก็ยิ่งทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น เลียมกลับมาด้วยภาพลักษณ์เท่และคูลเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือใกล้ชิดแฟน ๆ มากขึ้น เลียมใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวในการอัปเดตความเคลื่อนไหวกับแฟนๆ กว่า 3.3 ล้านคนที่ติดตามเขา แถมยังขยันตอบคอมเม้นท์ด้วยตัวเอง ทุกครั้งที่มีประเด็นสำคัญ ๆ เลียมไม่พลาดที่จะตอบทวีตแฟน ๆ รวมถึงเหตุการณ์หมูป่า 13 คนติดถ้ำหลวง กระแสความนิยมในตัวศิลปินนำสู่คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทย Liam Gallagher Live in Bangkok 2018 ที่ถูกพูดถึงในทวิตเตอร์จนติดเทรนด์อันดับ 1 ทำให้คนที่ไม่รู้จักเลียมเกิดความสงสัยว่าเขาเป็นใครขึ้นมา จนกระทั่งปลายปี 2019 กัลลาเกอร์คนพี่อย่าง โนล ก็เดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตในประเทศไทยเช่นกัน Noel Gallagher’s High Flying Birds Live in Bangkok 2019 จนแฟนเพลงต่างแซวกันว่าเมื่อพี่น้องไม่ถูกกัน แฟน ๆ จะชมคอนเสิร์ตทั้งทีก็ต้องแยกกันชม ซึ่งลึก ๆ ก็ต่างรอวันที่โนลและเลียมคืนดีเพื่อขึ้นเวทีเดียวกันอีกครั้ง

 

 

เลียม: “ผมฟังผลงานเพลงใหม่ของโนลแล้ว เหมือนพวกมังสวิรัติพยายามจะขายเคบับเลยว่ะ”

โนล: “เพลงของไอ้เลียมคือเพลงที่ไม่ซับซ้อน เขียนขึ้นโดยคนที่ไม่ซับซ้อน และทำให้คนที่ไม่ซับซ้อนฟัง”

 

 

อย่างไรก็ตาม อีกเหตุผลที่ทำให้แฟนเพลงต่างติดตามเรื่องราวของวง Oasis และพี่น้องกัลลาเกอร์อย่างเหนียวแน่นก็เพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยระหว่างโนลและเลียม ซึ่งมักจะตอบโต้กันอย่างเจ็บแสบผ่านสื่อทำให้แฟนๆ ได้อ่านเรื่องราวเฮฮาเป็นประจำ รวมถึงกระแสการรียูเนียนวงดนตรีที่หลายคนเฝ้ารอให้เกิดขึ้นเร็ววัน แต่ดูเหมือนทุกครั้งที่เข้าใกล้ความหวังก็มักจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้การรียูเนียนห่างไกลไปเสมอ

 

เรื่อง: Tatiya

ภาพ: Everwhere in Oasis

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top